กสอ.ผนึกกำลังภาคเอกชน พัฒนาเอสเอ็มอีสู่อุตสาหกรรม4.0
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยในงานแถลงข่าว DIP : Transform For SMEs 4.0ที่ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมว่ากสอ.เร่งเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ภาคผลิตทั่วประเทศ 3-4 แสนราย ให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0ตั้งเป้าให้ได้ 80% ภายในปี 2564 ที่เหลือ 20%จะเร่งพัฒนาให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในปีถัดไป ปัจจุบันเอสเอ็มอีภาคอุตสาหกรรมของไทยมีระดับเทคโนโลยีอยู่ที่ 2.0-2.2 ซึ่งกลไกใช้ประเมินศักยภาพจะมาจากกระบวนการผลิตที่พึ่งพาเทคโนโลยีในการผลิต ใช้นวัตกรรม มีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยยึดโมเดล 4.0 จากประเทศเยอรมนี
“เร็วๆ นี้ จะเปิดตัวแผนปฏิบัติการสำหรับพัฒนาเอสเอ็มอีไปสู่ 4.0 โดย กสอ.ภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานรัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้องรวม 10 หน่วยงานร่วมจัดทำ เพื่อกำหนดทิศทางให้เอสเอ็มอีในแนวทางเดียวกัน เป็นโมเดลให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศ ทั้งอุตสาหกรรม การค้า และการบริการ” นายกอบชัยกล่าว
สำหรับปี 2561กสอ.ได้วางแผนกลยุทธ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีในยุค 4.0 ภายใต้แนวคิด 4 เครื่องมือกับ 1ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย1.ระบบไอทีจะให้บริการด้านการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ 2.ระบบอัตโนมัติการพัฒนาระบบการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต 3.ระบบหุ่นยนต์ ลดการใช้แรงงานในกระบวนการผลิต และ 4.นวัตกรรม เชื่อมโยงงานวิจัยสู่การพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และอีกเรื่องสำคัญคือมุ่งพัฒนา การรวมกลุ่มอุตสาหกรรมหรือคลัสเตอร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการต่อยอดของเอสเอ็มอีไทยให้เข้มแข็ง
โดยมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในปี 2561 กสอ. ได้เตรียมวงเงินสนับสนุนภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่จะต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีวงเงินเหลือประมาณ 14,000 ล้านบาท
สำหรับมาตรการที่ไม่ใช่การเงินกสอ.ได้เตรียมงบประมาณปี 2561 ไว้ 800 ล้านบาทมีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอีและโอท็อปกว่า 50,000 ราย คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 10,000ล้านบาท นอกจากนี้ยังเตรียมเร่งดำเนินการขับเคลื่อน “มาตรการพิเศษ SMEs สู่ 4.0” ภายใต้แผนงานของกระทรวงอุตสาหกรรม 9 มาตรการ ทั้งในด้านการส่งเสริมและช่วยเหลือ SMEs
ขณะที่มาตรการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จะเชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมกับการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV โดยตั้งเป้าเพิ่มหมู่บ้าน CIV อีก 11 แห่งจากที่นำร่องไปแล้ว 9 แห่ง และคาดหวังที่จะครบ 67 หมู่บ้านทั่วประเทศภายใน 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะช่วยผลักดันให้เกิดมูลค่าอุตสาหกรรมชุมชน (OTOP) ในปี 2565 กว่า 100,000 ล้านบาท
เครดิต : naewna.com
28
ธ.ค.
2560