ประวัติ
ประวัติสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน (BSID)
สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน (สพส.) อยู่ภายใต้การดำเนินการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2531 ในชื่อสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรและโลหะ (MIDI) ต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2539 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ให้รองรับกับภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมในอนาคต จึงได้รับการยกฐานะเป็นสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน พร้อมกับขยายการดำเนินงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบที่กว้างขวาง ครอบคลุมอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งหมายถึงอุตสาหกรรมที่ผลิตและส่งสินค้า วัตถุดิบหรือบริการ ให้กับอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมหล่อโลหะ อุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจน อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เป็นต้น
ช่วงวางรากฐานอุตสาหกรรมสนับสนุน (ปี พ.ศ. 2531 - 2539)
ภายหลังจากการปฏิวัติค่าเงินของประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้มีส่วนเร่งให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำในประเทศไทย ในขณะนั้นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ก่อตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ(MIDI)ขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 โดยเน้นกระบวนการผลิตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานขึ้นรูปโลหะ
วัตถุประสงค์ของ MIDI คือการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม ผ่านการฝึกอบรมหรือสัมมนาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิคแก่โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดระยะเวลาการทำงาน MIDI สถาบันได้ดำเนินโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องภายใต้ความร่วมมือขององค์กรภาครัฐและเอกชนจากต่างประเทศ เช่น UNIDO JODC NEDO JARACฯ ในช่วงนี้ยังได้มีการจัดตั้งชมรมและสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนของประเทศไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศอีกด้วย
ช่วงขยายตัวของอุตสาหกรรมสนับสนุน (ปี พ.ศ. 2539 - 2555)
การปรับตัวครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ได้เกิดขึ้นภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจทางเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ.2550 ทำให้มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ MIDI ด้วย เพื่อมุ่งขยายกลุ่มเป้าหมายและการให้บริการภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนของไทยให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นจึงก่อตั้งเป็นสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน (BSID)ที่เน้นกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนที่มีความละเอียดและเที่ยงตรงสูงตรงตามมาตราฐานสินค้าได้
ในช่วงเวลานี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งสถาบันเครือข่ายขึ้น เช่น สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันยานยนต์ สถาบันไทย-เยอรมัน เป็นต้น เพื่อรองรับการให้บริการแก่โรงงานภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมาส่งผลให้ BSID ต้องเพิ่มการให้บริการด้านเทคโนโลยีการจัดการ โดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น การวินิจฉัย การลดต้นทุน การวิเคราะห์ทดสอบ และโครงการต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐเอกชนของญี่ปุ่น เพื่อให้อุตสาหกรรมสนับสนุนของประเทศไทย สามารถผลิตชิ้นส่วนต่างๆเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศได้
ช่วงพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมสนับสนุน (ปี พ.ศ 2555 - 2560)
วิกฤตการณ์การเงินของประเทศต่างๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนและประเทศต่างๆ ในเอเชียตลอดจนการเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในอาเซียน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทย ทำให้มีนโยบายและมาตราการส่งเสริมอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านหน่วยงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสถาบันเครือข่ายและสมาคมต่างๆ ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากรขององค์กรทั้ง 3 ลักษณะต้องมาบูรณาการทั้งแนวคิดและวิธีการทำงานใหม่
สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนร่วมกับสถาบันเครือข่ายและสมาคมต่างๆ ในอุตสาหกรรมสนันสนุนจัดทำยุทธศาสตร์ การพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนของไทยทั้งระยะสั้น ระยะยาว ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2556 โดยบรูณาการทั้งสถานที่งบประมาณและบุคลากร เน้นการทำงานแบบ 3 ประสาน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินไปก็เพื่อเสริมสร้างความสามารถของโรงงานอุตสาหกรรมของไทยให้สามารถขยายตลาดและการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเตรียมรับรองการเปิดประชาคมอาเซียน(AEC)ในปี พ.ศ.2558 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ในอนาคตอันใกล้นี้ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อาจมีการปรับบทบาท เพื่อขานรับนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานเครือข่าย จำเป็นต้องปรับบทบาทและโครงสร้างกระทรวงฯ ให้สอดคล้องกับบริบทดังกล่าว โดยสนับสนุนอุตสาหกรรมและวิสาหกิจทุกระดับให้สามารถเติบโต ทั้งด้านผลิตภาพ การมีส่วนร่วมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ซึ่งทางสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในรูปแบบใหม่จะต้องตอบโจทย์รัฐบาลที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจของไทยขับเคลื่อนด้วยการมีมาตรฐาน ผลิตภาพ นวัตกรรม และประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในปีพ.ศ.2579 ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป